ปั่นตามรอยรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ ๗
เช้านี้มีความกระตือรือล้นเป็นพิเศษ กับการเตรียมตัวไปร่วมปั่นจักรยานในกิจกรรม ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ครั้งที่ ๗ แม้จะเคยไปร่วมกิจกรรมนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ในคราวนี้มีความรู้สึกที่แตกต่าง เพราะครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่จะได้มีโอกาสร่วมกลุ่ม ปั่นจักรยานไปชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันสำคัญของรัตนโกสินทร์... เป็นครั้งสุดท้าย!
จะด้วยเพราะการสิ้นสุดของโครงการ หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการส่งท้ายความรู้สึกดีๆ ที่ชุมชนคนรักการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพและท่องเที่ยว ได้มาร่วมเส้นทางที่ให้ทั้งสาระ และความรู้ เคียงคู่การดูแลทั้งสุขภาพสิ่งแวดล้อม และตัวผู้ปั่นจักรยาน จักรยานสีน้ำเงินคู่ใจพร้อมอุปกรณ์บันทึกภาพที่พกติดท้ายอาน พามาถึงสวนสราญรมย์แต่เช้าตรู่ มีเหล่านักปั่นย้อนร้อยประวัติศาสตร์มารอคอยกันปะปราย ได้ทักทายพูดคุยกันเป็นที่อบอุ่นเพลิดเพลิน
จนเมื่อเวลาล่วงเลยสู่กำหนดนัดหมาย มีจักรยานเข้ามาจอดเรียงรายหนาตารอบพื้นที่จุดนัดพบ ขณะเดียวกับที่ คุณต่อ ( คุณระพีพัฒน์ เกษโกศล ) ปรากฏกายขึ้นพร้อมคุณหนูนาและทีมงาน กับเอกสารปึกใหญ่ จัดแจงเชิญชวนให้สมาชิกร่วมลงทะเบียนครั้งประวัติศาสตร์ พร้อมรับเอกสารคู่มือการปั่นจักรยานท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ฉบับเล็ก แต่แน่นไปด้วยข้อมูลแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มากมาย กว่าจะลงทะเบียนกันเสร็จเวลาก็ล่วงเลยไปมากโข คุณต่อจึงเชิญชวนมาร่วมกลุ่มกันฟังสรุปเส้นทางในการปั่นไปชมกันเสียก่อน พร้อมทั้งแนะนำวิทยากร ( ชั้นเซียน ) สำหรับทริปส่งท้ายนี้คือ คุณนัท หรือ คุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นนักวิชาการวัฒนธรรม ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และยังรับหน้าที่เป็นประธานชมรมสยามทัศน์อีกด้วย ทริปนี้ความรู้ไม่แน่นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
> คุณต่อ จากกองการท่องเที่ยวกรุงเทพ
> เด็กๆ ต้องเติมพลังน้ำก่อนออกปั่นเสียหน่อย
เนื่องจากทริปนี้เป็นกิจกรรมครั้งที่ ๗ และเป็นครั้งสุดท้ายของการปั่นย้อนรอยประวัติศาสตร์ฯ ซึ่งทางกองการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ได้กรุณาจัดให้มีขื้น โดยมีเจ้าหน้าที่น่ารักๆ มาอำนวยความสะดวกนักปั่นทุกครั้ง และมีชาวชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมาร่วมกิจกรรมนี้ คอยช่วยกันดูแลนักปั่นทั้งทุกเพศทุกวัยเสมอ ทางคณะกรรมการชมรมจึงได้จัดของที่ระลึก เป็นหมวกสำหรับสวมขี่จักรยานให้กับทีมของคุณต่อเป็นที่ระลึก
> คณะชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย มอบหมวกที่ระลึกให้กับทีมงานกองท่องเที่ยวกรุงเทพ
หลังจากทำความเข้าใจเรื่องเส้นทางเป็นทีเรียบร้อย ทุกท่านทุกคันต่างไปรวมพลกันที่ประตูทางออกของสวนสราญรมย์ เพื่อขับเคลื่อนพลังสองขาพาสองล้อไปสามเส้นทางเป้าหมาย กลุ่มจักรยานสารพัดรุ่นทะยอยออกจากสวนฯ ไปตามเส้นทางจนถึงแยกหน้าสน.พระราชวัง รอกลุ่มกันเพื่อข้ามแยกไปทางถนนมหาธาตุ เพื่อเลี้ยวเข้าวัดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ แล้วไปจอดรถกันที่ลานบริเวณด้านข้างวิหารของพระนอน จากนั้นเดินลัดเลาะไปสู่วิหารทิศตะวันออก เพื่อไปรับฟังเรื่องราวของพระโลกนาถ
> คุณนัทกำลังอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับพระโลกนาถ
ภายในวิหารขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระโลกนาถ ซึ่งคุณนัทได้บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องเมื่อครั้งอยุธยาเสียกรุง ว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปองค์นี้ คือหนึ่งในลางบอกเหตุเมื่อครั้งเสียกรุง โดยก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ มีบันทึกจากคำบอกเล่าของคนกรุงเก่าว่า... ก่อนที่จะเสียกรุงฯ ได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นลาง ๕ ประการ คือ.. ๑. เกิดมีน้ำไหลออกจากพระเนตรของหลวงพ่อโต ที่วัดพนัญเชิง ๒. เกิดมีฝูงอีกาตีกัน จนร่วงตกลงมาและถูกเสียบตายอยู่บนยอดเจดีย์วัดมหาธาตุ ๓. เกิดมีสุรเสียงก้องท้องพระโรงจากพระรูปขององค์พระนเรศวร ๔. นัยตาของพระพุทธรูปนาคได้หลุดลงมาอยู่ที่มือ ๕. องค์พระโลกนาถอกแตก ทั้งหมดเป็นบันทึกคำให้การของคนกรุงเก่าซึ่งถูกพม่าจับเป็นเชลยในครั้งนั้น โดยหลังจากที่พม่าเสียเมืองให้กับอังกฤษ บรรดาบันทึกเหล่านั้นจึงถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ จนกระทั้งเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการนำคำให้การนั้นมาแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้ง จึงได้ข้อมูลอย่างที่ทราบ พระโลกนาถนั้นมีความสูงห้าวา หรือประมานสิบเมตร สร้างขึ้นเมื่อสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ นำมาประดิษฐานอยู่ภายในวิหารทิศตะวันออก มีความเชื่อกันว่าหากมาอธิษฐานขอบุตรกับท่านแล้ว จะได้อภิชาตบุตรมากำเนิด ทุกคนต่างทึ่งในเรื่องราวแห่งอดีตขององค์พระโลกนาถ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติ จึงทะยอยนมัสการองค์พระ ก่อนที่จะเดินทางออกจากที่นั่น..
> ทั้งข้อมูลแน่น และมุขสอดแทรกเพียบ.. นี่หละคุณนัทของเรา
มีข้อมูลหนึ่งเกี่ยวกับองค์พระนอนที่วัดโพธิ์ที่น่าสนใจ คือองค์พระนั้นมีความยาวเป็นอันดับที่ ๓ ( ๔๖ เมตร ) รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ที่จังหวัดสิงห์บุรี ( ๔๗.๕๐ เมตร ) และพระนอนที่วัดขุนอินทรประมูล จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีความยาวที่สุดในประเทศไทย ( ๕๐ เมตร ) ตามลำดับ แต่สำหรับสถานที่ซึ่งมีพระนอนมากที่สุดนั้น คุณนัทเฉลยว่า... คือที่โรงพยาบาลสงฆ์ นั่นเอง.. ฮา...
ชาวคณะนักปั่นเคลื่อนตัวออกจากวัดโพธิ์ ไปตามเส้นทางถนนมหาธาตุ เลี้ยวเข้าถนนหน้าพระลาน ผ่านมหาวิทยาศิลปากร เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางข้างสนามหลวง แล้วเลี้ยวเข้าถนนราชนี เพื่อเข้าชม "วังหน้า" หลังจากแยกย้ายกันไปจอดเทียบจักรยานตามสะดวก และเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว คุณต่อและคุณนัทได้นำทุกท่านขึ้นบันไดไปยังด้านหน้าของอุโบสถวัดบวรสถานสุธาวาส ซึ่งคำว่า "บวร" หมายถึง "วังหน้า" นั่นเอง และบริเวณพื้นที่แห่งนี้ คือวัดซึ่งอยู่ในพื้นที่ประทับของวังหน้า เป็นตำแหน่งรองมาจากพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น โดยมีอาณาบริเวณของวังหน้าเดิมตั้งแต่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ รวมถึงตอนเหนือของท้องสนามหลวง ซึ่งเมื่อก่อนนั้นมีเพียงครึ่งเดียว ก็คือถึงช่วงที่มีถนนผ่ากลางในปัจจุบัน โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้า จึงรื้อถอนอาคารที่อยู่ในส่วนของสนามหลวงออก สนามหลวงจึงมีขนาดใหญ่เท่ากับที่เห็นในปัจจุบัน
ตำแหน่งวังหน้าที่เลิกไปสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีวังหน้าพระองค์สุดท้ายคือพระโอรสของพระปิ่นเกล้า มีพระนามว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ หลังจากนั้นจึงได้มีการสถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชขึ้นมาแทน โดยมีเจ้าฟ้าวชิรุณหิตเป็นพระองค์แรก ยังมีเกร็ดเรื่องราวเกี่ยวกับวังหน้า และสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกพอสมควร ซึ่งคุณนัทได้กรุณาบอกเล่าให้พวกเราได้ทราบกัน อย่างกับนั่งชมรายการ "บางอ้อ" ประมาณนั้น
อุโบสถวัดบวรสถานสุธาวาสที่อยู่ต่อหน้าเราในวันนั้น ถือได้ว่าเป็นสถานที่่ซึ่งน่าสนใจ และมีความสวยงาม ตลอดจนเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งมากมาย และที่สำคัญคือ.. ภายในอุโบสถแห่งนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าชมบ่อยนัก และในวันนั้นพวกเราชาวนักปั่นได้รับความกรุณา ให้เป็นหนึ่งในคณะที่ได้มีโอกาสเข้าชื่นชมความงาม... อันสุดอลังการ
> ภายในอุโบสถวัดวังหน้า ที่ยังคงเก็บรักษาความวิจิตรสวยงามของภาพจิตกรรมฝาผนังเอาไว้อย่างสมบูรณ์
ความสวยงามภายในอุโบสถคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม และยังคงสภาพเดิมอย่างมาก วาดเป็นเรื่องราวตำนานพระพุทธสิหิงค์ เริ่มเขียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อจนถึงรัชกาลที่ ๔ และมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องราวที่ทำให้พวกเราถึง "บางอ้อ" อีกครั้งคือ ภาพวาดของทหารฝรั่งที่ปรากฏอยู่บนฝาผนัง ซึ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน และมีเกร็ดน่าทึ่งเรื่องหนึ่งคือ ชุดของทหารที่ใส่ให้เห็นในภาพนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงคิดขึ้น เป็นเสื้อใส่แบบปิดตั้งแต่คอ และกำหนดให้มีคำเรียกว่า "ราชาแพทเทิ่น" ( ราชา + Pattern ) หรือ "แบบหลวง" แต่คนไทยไม่สะดวกที่จะอ่านออกเสียง จึงได้มีการเรียกเป็นคำว่า "ราชปะแตน" แทน อืม..อย่างนี้นี่เอง

> รวมบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของเหล่านักปั่น ที่ยากนักจะได้มีโอกาสเช่นนี้
< อ่านความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดพระแก้ววังหน้าได้ที่นี่ >
อิ่มเอมกับภาพฝาผนังที่ตื่นตาตื่นใจ และเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สนุกสนานเป็นที่เรียบร้อย คณะนักปั่นจึงออกเดินทางต่อ โดยปั่นเป็นแถวไปทางถนนพระอาทิตย์ ผ่านไปทางถนนสิบสามห้างออกถนนราชดำเนิน เพื่อไปรวมพล ณ จุดกิโลเมตรที่ "ศูนย์" ตรงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่างแยกย้ายกันไปหาของอร่อยๆ รับประทานกัน อันเป็นธรรมเนียบปฏิบัติเช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา แต่พวกเรากลุ่มเล็กๆ ได้แยกไปจัดการบะหมี่เจ้าอร่อยที่ถนนสิบสามห้าง ก่อนจะตามมาสมทบที่นี่ในภายหลัง
ออกจากกิโลเมตรที่ศูนย์ คณะเราปั่นไปทางถนนดินสอผ่านหน้าที่ทำการกรุงเทพมหานคร แล้วปั่นไปทางถนนมหาไชยเพื่อเข้าชมวัดเทพธิดารามวรวิหาร โดยมีเป้าหมายอยู่ที่กุฏิท่านสุนทรภู่ ในช่วงเวลาที่ท่านบวชจำพรรษา กุฏิแห่งนี้เองที่ได้ค้นพบวรรณกรรมทรงคุณค่ามากมาย อาทิ พระอภัยมณี ซึ่งท่านได้เก็บรักษาเอาไว้ใต้เพดานหลังคากกุฏิ วรรณกรรมชิ้นนี้เองที่ทำให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
> ที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร พวกเรามาเพื่อเข้าชมกุฏิสุนทรภู่
คุณนัทได้เล่าถึงเกล็ดเกี่ยวกับตัวละครฝรั่งในเรื่องพระอภัยมณี ที่ชื่อว่า นางละเวงวัลลา และอุศเรน โดยสมัยที่ท่านบวชอยู่วัดบพิตรพิมุขนั้น ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำคือตึกรับราชฑูตฝรั่ง ท่านจึงได้ภาพของตัวละครทั้งสองนี้มา
< ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่านสุนทรภู่ >
< ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดเทพธิดารามวรวิหาร >
สาระเรื่องราวของท่านสุนทรภู่กับวัดแห่งนี้มีมากมาย พอได้ซึมซับกันจนหอมปากหอมคอ คณะจึงได้ปั่นต่อไปยังเป้าหมายสุดท้าย เท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย นั่นคือ "พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" บนหัวมุมถนนหลานหลวง ที่หลายต่อหลายคนนั่งรถหรือขับรถผ่านบ่อยๆ แต่ไม่เคยได้แวะเข้าไปชม นับได้ว่าเป็นการปิดท้ายของทริปที่น่าชื่นชม เพราะเรื่องราวที่พวกเราได้รับรู้จากการชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ช่างเข้ากันได้ดีกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้น และถือได้ว่าสถานที่แห่งนี้ ได้รวบรวมจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลง และนำคำว่า "ประชาธิปไตย" และ "รัฐธรรมนูญ" มาสู่ประเทศไทย

> ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
> อาคารพิพิธภัณฑ์
ที่นี่มีห้องจัดแสดงทั้งหมด ๓ ชั้น ในชั้นที่ ๑ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ ๗ จนถึงช่วงสุดท้ายแห่งพระชมน์ชีพ ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยมีการนำของใช้ส่วนพระองค์มาจัดแสดงหลายอย่าง เช่น กล้องถ่ายภาพ นาฬิกา เครื่องยิงลูกเทนนิส ( เด็กๆ สนใจกันมาก ) และมีโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ที่จำลองบรรยากาศของโรงภาพยนตร์ที่พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ในชั้นที่ ๒ จัดแสดงพระราชประวัติก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ เช่น ช่วงเสด็จเข้ารับการศึกษา ทรงพระผนวช ทรงอิเษกสมรส และอื่นๆ ส่วนในชั้นที่ ๓ จัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉลองพระองค์ต่างๆ รวมถึงมีการจัดแสดงรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย ที่ชั้นนี้มีแบบจำลองของสะพานพุทธยอดฟ้าและปฐมบรมราชานุสรณ์ ทำให้ทราบว่า การออกแบบสะพานและถนนทั้งสองฝั่งนั้น ออกมาเป็นรูปร่างของลูกธนู ซึ่งเป็นเหมือนความหมายของพระนามของพระองค์นั่นเอง
> โรงหนังศาลาเฉลิมกรุงจำลอง

> น้องปิงปิง และน้องส้ม เข้าไปร่วมรับเสด็จพระองค์ท่านกับเหตุการณ์ในอดีตด้วยนะ

> แบบจำลองของสะพานและพระที่นั่งฯ ซึ่งเป็นภาพของลูกศร
> รัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทยซึ่งจัดแสดงอยู่ที่นี่ด้วย และกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับการบ้านการเมืองของไทยเรามาถึงปัจจุบัน
< รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า >
ก่อนออกจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เราได้มีโอกาสร่วมบันทึกภาพตรงบันได้ทางขึ้น ก่อนจะออกมาด้านนอกและได้แจกรับหนังสือ "แสงแห่งศิลป์ พิพิธภัณฑ์บางกอก" ซึ่งทีมงานคุณต่อได้นำมามอบให้กับชาวจักรยานที่มาร่วมทริปนี้ทุกคนเป็นที่ระลึก ซึ่งเป็นหนังสือที่มีคุณค่าต่อผู้สนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างมาก นักปั่นหลายท่านได้ถือโอกาสบอกลาแยกย้ายกันที่นี่ เพราะถือว่าเป็นสถานที่สุดท้ายในการปั่นจักรยานย้อนประวัติศาตร์รัตนโกสินทร์กันแล้ว ความจริงยังมีสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่งภายในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งน่าสนใจควรแก่การเที่ยวชม เพื่อย้อนรำลึกถึงเรื่องราวอันทรงคุณค่าและได้รับความรู้มากมาย แต่น่าเสียดายที่กิจกรรมได้สิ้นสุดลงเสียก่อน พวกเราที่เหลือปั่นจักรยานไปปิดทริปกันที่สวนสราญรมย์ ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับด้วยความอิ่มเอม แทรกไว้ด้วยความเหงาเล็กๆ เมื่อคิดถึงกิจกรรมนี้ ที่ดำเนินมาจนถึงครั้งสุดท้าย แต่ทุกคนยังคงมีความหวังอยู่ในใจลึกๆ ว่า โครงการดีๆ เช่นนี้...จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดให้คนไทยและชาวต่างชาติอีกมากมาย ได้มีโอกาสดีๆ ที่น่าประทับใจ เช่นเดียวกับนักปั่นอย่างพวกเราได้สัมผัสมาแล้ว เรามาร่วมส่ง "เสียง" ไปถึงท่านผู้ว่าฯ และกองการท่องเที่ยวกรุงเทพ ดีไหม.. ว่าให้จัดกิจกรรมดีๆ เช่น เดียวกับการปั่นจักรยานตามรอยประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์นี้อีก..
** ชมภาพกิจกรรม "ปั่นตามรอยประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ครั้งที่ ๗" ได้ที่นี่ <กดเลยครับ>
หรือ Click ที่ภาพด้านล่างนี้
