❝เปิดฉากแข่งขัน..จักรยานหุ่นยนต์ครั้งที่ 2❞

กิจกรรมสำคัญนี้จัดขึ้นโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ร่วมสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย โดยการสนับสนุนจากบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขันโดยแบ่งออกเป็น 3 รอบคือ
• รอบคัดเลือกจากรายงานการออกแบบ จะพิจารณาจากรายละเอียดในรายงานการออกแบบจักรยานหุ่นยนต์ ซึ่งรายงานจะต้องมีรายละเอียดของจักรยานหุ่นยนต์ ขนาด แผนภูมิของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เทคนิคที่ใช้ในการควบคุม รายละเอียดของเซนเซอร์ที่ใช้ เทคนิคการหยุดจักรยานหุ่นยนต์กรณีฉุกเฉิน และกลยุทธการแข่งขัน
• รอบแข่งคัดเลือก ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ 16 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดจะได้เข้ารอบแข่งชิงชนะเลิศ
• รอบแข่งชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ โดยเป็นการแข่งความเร็วพร้อมกันครั้งละ หลายทีม ทีมแพ้ตกรอบจนเหลือทีมสุดท้ายที่เป็นทีมชนะเลิศ
คุณสมบัติของทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน
สมาชิกในทีมต้องเป็นนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ระดับอุดมศึกษา หรือ สูงกว่า ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย มีสมาชิกในทีม 3 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน
ลักษณะการแข่งขัน
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ เป็นการแข่งขันออกแบบ และพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลย์แบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วย ตัวเอง โดยไม่ล้มไปด้านข้างโดยใช้การควบคุมทางพลศาสตร์ นอกจากนี้แล้ว จักรยานหุ่นยนต์จะต้องมีความสามารถของรถอัจฉริยะในการวิ่งได้ด้วยตัวเอง จากจุดเริ่มต้นผ่านเส้นทางที่กำหนดให้ไปถึงจุดหมายโดยไร้คนบังคับ นักศึกษาที่ผ่านการแข่งขันนี้ จะได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถในสาขาวิศวกรรมควบคุมควบคู่ไปกับวิศวกรรม หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ
จักรยานที่ใช้แข่งขัน
ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้จักรยานที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง หรือจักรยานที่มีขายตามท้องตลาดก็ได้ มาพัฒนาดัดแปลงต่อให้เป็นจักรยานหุ่นยนต์ พลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนจักรยานหุ่นยนต์ ต้องเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือไอเสีย ตัวอย่างของพลังงานที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานเคมี ตัวอย่างของพลังงานที่ไม่อนุญาตให้นำมาใช้ เช่น พลังงานจากเครื่องยนต์สันดาปภายในทุกชนิด พลังงานจากการเผาไหม้ เป็นต้น
เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมแข่ง ขันภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2554
หลังจากนั้นจะมีการอบรมผู้เข้าร่วมแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะ ที่ห้องประชุม บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ถนนเทพารักษ์ และจัดให้มีการแข่งขันสองรอบคือ
รอบคัดเลือก 2 พฤศจิกายน 2554
รอบชิงชนะเลิศ 8 กุมภาพันธ์ 2555
โดยมีรางวัลการแข่งขัน ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท
รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท
รางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท
16 ทีมที่ทำคะแนนสูงสุดที่ผ่านเข้ารอบแข่งชิงชนะเลิศ ทีมละ 20,000 บาท
โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว.. คิดว่า.. แวดวงจักรยานนั้นมีหน่วยงานมากมาย ตลอดจนผู้ประกอบการเกี่ยวจักรยาน น่าจะใช้โอกาสนี้สนับสนุนหรือร่วมมือในการใช้จักรยานของตนเข้าร่วมเป็นส่วน หนึ่งของการประดิษฐ์ เพราะการผสมผสานเทคโนโลยีวิศวกรรมจักรยานในรูปแบบการใช้งานต่างๆ นั้น จะเอื้อประโยชน์ต่อการออกแบบจักรยานหุ่นยนต์ เพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริงในอนาคต เช่น สามารถเอื้อให้ผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้จักรยาน ผู้พิการบางส่วน คนชรา หรือผู้ป่วย สามารถใช้งานจักรยานได้
- ดูรายละเอียดเพ่ิมเติมได้ที่ http://bicyrobo.ait.ac.th

❝เปิดฉากแข่งขัน..จักรยานหุ่นยนต์ครั้งที่ 2❞
Reviewed by zangzaew
on
07:00
Rating:
